บ้าน สไตล์ลอฟต์ กลางป่าหลังนี้ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวขจี มีความร่มรื่น เงียบสงบ ซึ่งตรงกับไลฟ์สไตล์ที่พวกเขาชอบความเป็นส่วนตัว ห่างไกลจากพื้นที่ชุมชน บรรยากาศน่าอยู่ เหมาะสำหรับสร้าง บ้าน พักผ่อนและเตรียมรองรับครอบครัวขยายได้เป็นอย่างดี
อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง คุณโบว์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านให้เราฟังว่า “ก่อนหน้านี้โบว์และคุณเต๋าเช่าบ้านอยู่มาก่อน พอแต่งงานมีครอบครัว มีลูกสองคน ( น้องแบรี่ – ณกร กุลวงษ์ และน้องดีไซน์ – กุลกัลยา กุลวงษ์ ) เราเลยอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เอาไว้รองรับเมื่อเด็กๆ โตขึ้นด้วย ประกอบกับคุณเต๋าทำงานเกี่ยวกับออกแบบโลโก้ ออกแบบงานผลิตภัณฑ์ จึงตั้งใจทำเป็นโฮมออฟฟิศไปเลยในตัว เผื่อเอาไว้สำหรับลูกค้าเข้ามาคุยงาน มีสถานที่เอาไว้รับรองลูกค้า”
ออกแบบก่อนทั้งที่ยังไม่ได้ที่ดิน เมื่อคุณโบว์และคุณเต๋าตัดสินใจจะสร้างบ้านหลังใหม่ จึงให้โจทย์และบอกความต้องการกับทาง สถาปนิก 4447 Studio Designer ว่าต้องการออก แบบบ้าน ที่มาพร้อมกับพื้นที่ทำงาน ทั้งที่ในตอนนั้นเขาทั้งคู่ยังหาซื้อที่ดินถูกใจไม่ได้ แต่ให้คุณโจ – วศิลป์ แสงดอกไม้ ออกแบบรอไว้ก่อน “พอคุณเต๋าได้เห็นแบบบ้านที่คุณโจออกแบบรู้สึกชอบในไอเดีย และเข้ากับแนวทางการออกแบบบ้านของเรา เลยให้โจทย์ไปว่าขอ ห้องนอน 3 ห้อง มีครัวใหญ่ มีโซนออฟฟิศ ซึ่งคุณโจก็ได้ออกแบบตามโจทย์ที่เราให้ไว้ เรียกว่าออกแบบไว้ก่อนเกือบปีเลยทีเดียวกว่าเราจะได้ที่ดินผืนนี้”
คุณโจเล่าเพิ่มเติมว่า “ผมมีโอกาสพูดคุยกับคุณเต๋าและโจทย์แรกที่ได้มาเลยก็คือ อยากได้อะไรที่แปลกๆ เมื่อผมได้ยินประโยคนี้ทำให้นึกถึงคอนเซ็ปต์ที่เราได้คุยกัน ได้มองบริบทเกี่ยวกับเจ้าของบ้าน มองลักษณะการทำงานของเขาว่าคุณเต๋าเป็นนักออกแบบเหมือนกัน แต่เป็นคนละสายงาน น่าจะมีอะไรที่คลิกกันพอสมควร สำหรับมุมมองของผม ผมเห็นโลโก้ของบริษัท ROOTLAB เห็นฟอร์มแล้วรู้สึกว่าถ้านำมาออกแบบให้กลายเป็นสเปซของบ้านและออฟฟิศน่าจะมีความเป็นไปได้ ก็เลยลองเอาแบบที่เราได้ออกแบบไว้มาเทียบสเกลแล้วตีฟอร์มออกมาดูครับ กลายเป็นว่าลงตัว มีสเปซของสวนกลางบ้านด้วย จึงนำรูปฟอร์มของตัว R มาทำเป็นโจทย์เลย”
บ้านตัว R จุดเริ่มต้นของบ้านตัว R จึงกลายเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับสถาปนิก จะทำอย่างไรให้การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยขนาดชั้นเดียวนั้นเพียงพอกับการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด รวมถึงมีโซนสำหรับออฟฟิศและให้พนักงานได้นั่งทำงานไปด้วย “ที่ประทับใจมากๆ เลยก็คือ ไม่คิดว่าเขาจะเอาโลโก้บริษัทมาออกแบบเป็นตัวอาคาร ซึ่งจุดนี้เราไม่ได้บอกเลย แต่เขามองว่าเราทำออฟฟิศ ทำงานออกแบบ อยากให้ลูกค้าเข้ามาแล้วรู้สึกว่ามีความคิดสร้างสรรค์ ที่นี่เลยกลายเป็นบ้านตัว R”
นอกจากความชอบที่เจ้าของบ้านรู้สึกประทับใจกับรูปฟอร์มของตัวอาคารที่นำโลโก้ของบริษัทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบบ้านแล้ว ในเรื่องของการดีไซน์โดยภาพรวมก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่คุณโบว์และคุณเต๋าชอบมากเช่นเดียวกัน เรียกว่าทางสถาปนิกตีโจทย์ของทั้งคู่ได้อย่างตรงใจ “เราไม่ได้กำหนดในเรื่องของสไตล์ให้กับคุณโจเลย บอกในสิ่งที่โบว์ต้องการ เช่น นอกจากมีครัวแพนทรีในบ้านแล้วเราขอครัวไทยใหญ่ๆ หลังบ้านด้วย เพราะทำกับข้าวทานเอง จึงจำเป็นต้องมีครัวนอกไว้สำหรับใช้งานหนัก ขอห้องนอน 3 ห้อง มีโซนออฟฟิศแค่นั้น พอเขาออกแบบมาก็เป็นอย่างที่ใจเราอยากได้โดยไม่แก้แบบกันเลย”
บ้านลอฟต์แบบผสมผสาน “ด้วยความที่เจ้าของบ้านมีไลฟ์สไตล์เรียบง่าย มีทั้งความขรึมและความเท่อยู่ในตัว เราจึงครีเอทและใส่ดีไซน์ได้อย่างเต็มที่ ผมจึงออกแบบภาพรวมของอาคารภายนอกเป็นแนวกึ่งลอฟต์แบบผสมผสาน นำวัสดุที่เป็นอิฐแดงเข้าไปเป็นองค์ประกอบ เพราะต้องการให้มีความเป็นธรรมชาติกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่ปกคลุมด้วยต้นไม้โดยรอบ ถ้าจะพูดให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ เหมือนงานสถาปัตยกรรมโบราณที่เป็นงานอิฐเมื่ออยู่ร่วมกับป่าแล้วรู้สึกว่าทั้งสองส่วนนี้ไปด้วยกันได้ แต่สำหรับโซนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวจะดีไซน์ให้ออกมาเป็นโทนสีขาวดูสมูทหน่อยครับ” คุณโจเล่าเสริม
เราทราบจากคุณโจว่าบ้านตัว R หลังนี้เป็นโครงสร้างงานคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งก่อผนังด้วยอิฐแดงโชว์ แต่สำหรับพื้นที่ในส่วนของที่พักอาศัยก่อด้วยอิฐมวลเบา ก่อฉาบและทาสี อีกหนึ่งไฮไลท์หลักของบ้านหลังนี้ก็คือ การนำลูกเล่นของอิฐบล็อคมาผสมผสานให้กลายเป็นช่องลมเพิ่มเติม เพราะคำนึงในเรื่องของการถ่ายเทอากาศ สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย “นี่เป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงในการออกแบบบ้านหลังนี้ครับ พยายามเน้นประตูหน้าต่างที่สามารถเปิดรับลมได้ และออกแบบให้มีสวนกลางบ้านโดยเราจะมีการเจาะสเปซด้านบนโดยไม่มีหลังคา เพราะอยากให้อากาศมีการถ่ายเทกลางบ้าน”
สำหรับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านตัว R คุณโจให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เมื่อเดินเข้าไปจะเจอกับพื้นที่ของห้องครัวแพนทรีก่อน ซึ่งออกแบบในลักษณะเป็นคาเฟ่ มีมุมบาร์ สามารถนั่งดื่มกาแฟ นั่งประชุม ถัดไปด้านในที่ตรงกับตัวโค้งและมุมแหลมของตัว R นั้นเป็นพื้นที่สำหรับทำงาน เมื่อเข้าไปในโซนออฟฟิศจึงเชื่อมโยงกับสเปซของตัวบ้านภายใน มีสเปซของสวนกลางบ้าน และสุดท้ายเป็นพื้นที่สำหรับที่พักอาศัยแยกออกไปอีกหนึ่งโซน”
แต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์วินเทจ ส่วนเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่ทำให้บ้านตัว R ดูสมบูรณ์แบบและมีความอบอุ่นมากยิ่งขึ้นก็คือ การเลือกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและกึ่งบิลต์อิน บวกกับรูปแบบและสไตล์มีทั้งแนววินเทจและเรโทรซึ่งเป็นแบบที่คุณโบว์และคุณเต๋าชื่นชอบนั่นเอง เรียกว่าเป็นการสร้างและเพิ่มความกลมกล่อมให้กับโครงสร้างของตัวอาคารได้ดีมากยิ่งขึ้นทีเดียว
ทำบ้านให้กลายเป็นร้านอาหาร นอกจากที่นี่จะเป็นบ้านที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของสไตล์การออกแบบและฟังก์ชันใช้งานแล้ว คุณโบว์และคุณเต๋าได้ขยายกิจการโดยทำบ้านให้กลายเป็นร้านอาหารด้วย ซึ่งให้คุณโจเข้ามาออกแบบเพิ่มเติม “เรามีเนื้อที่โซนสนามหญ้าหน้าบานค่อนข้างเยอะ ประกอบกับเมื่อก่อนมีลูกค้าและเพื่อนมาที่บ้านแล้วเขาอยากขอเราชมบ้าน เลยตัดสินใจว่าจะเปิดร้านอาหารควบคู่ไปด้วย จึงปรึกษากับคุณโจว่าจะออกแบบอย่างไรให้เข้ากับตัวบ้าน และไม่บดบังตัวอาคาร ทุกอย่างต้องมีความกลมกลืนสามารถถ่ายภาพได้ในทุกมุม ซึ่งคุณโจแนะนำและออกแบบให้เป็นแนวแคมป์ปิ้ง ด้วยการเพิ่มโต๊ะเก้าอี้ตรงลานด้านหน้า มีมุมบาร์ ใช้ชื่อร้านอาหารว่า Root lab local ซึ่งหลังจากที่เราได้ทำออกมาแล้วได้ผลตอบรับและความสนใจจากลูกค้าที่ดีมากค่ะ”
ภาพของบ้านตัว R ที่อยู่ท่ามกลางป่าแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีการหล่อหลอมไอเดียจากทั้งเจ้าของบ้านและนักออกแบบ ทุกอย่างคือบทพิสูจน์ความท้าทายและกล้าที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ ให้ต่างไปจากบ้านในรูปแบบเดิมๆ ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงไม่ใช่แค่เพียงการเติมเต็มความฝันของคุณโบว์และคุณเต๋าเท่านั้น แต่ยังเปิดประตูต้อนรับแขกที่มีความชื่นชอบอะไรเหมือนๆ กันให้เกิดความสุขในบ้านตัว R แห่งนี้
เจ้าของ คุณเต๋า – ภานุวัตร กุลวงษ์ และคุณโบว์ – ปนิดา ฝ้ายเทศ พื้นที่ใช้สอย 220 ตารางเมตร ภาพ ROOTLAB
Leave a Comment